นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสเพิ่งค้นพบว่า ไวรัส ที่รู้จักกันดีว่าอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไปและทำอันตรายต่อราเขียว ในทะเลสาบและแม่น้ำนั้น อาจเป็นตัวการทำให้คนเรามีความฉลาดน้อยลง ด้วยการส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง
รายงานการศึกษาเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวที่ชื่อ "เอทีซีวี-1" ว่าสามารถทำให้กิจกรรมด้านที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำของคนเราลดน้อยลงหรือเสียหายไปนั้น เป็นผลงานการศึกษาวิจัยของ โรเบิร์ต โยลเคน นักไวรัสวิทยาของสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ ในรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา
โยลเคนบอกว่า สภาวะทางร่างกายของคนเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ความแตกต่างบางอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นหรือมีอิทธิพลมากขึ้นจากจุลชีพเล็กๆ ที่เรารับเข้าไปอยู่ในร่างกายกับผลที่มันทำปฏิกิริยากับยีนของคนเรา ทั้งนี้ ทีมวิจัยของโยลเคนค้นพบไวรัสนี้ในร่างกายคนโดยบังเอิญขณะเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อวิจัยเรื่องอื่น แต่พบว่า ในผู้ใหญ่เต็มวัย 92 คนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนั้น มีถึง 44 เปอร์เซ็นต์ที่มีร่องรอยของไวรัส เอทีซีวี-1 อยู่ในดีเอ็นเอ
เมื่อทำการทดสอบพบว่า กลุ่มศึกษาที่มีไวรัสอยู่นั้น ทำคะแนนในการทดสอบค็อกนิทีฟเทสต์ หรือการทดสอบเพื่อวัดการเรียนรู้ ได้แย่กว่าคนทั่วไปราว 10 เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่ามีช่วงเวลามีสมาธิสั้นกว่า และมีการประมวลผลจากภาพที่ได้เห็นและระดับความเร็วของกลไกด้านการมองเห็นลดลงมากกว่าในระดับที่มีนัยสำคัญเชิงสถิติ อีกด้วย เมื่อนำไวรัสเดียวกันนี้ไปทดลองในหนูทดลองก็ปรากฏผลในทำนองเดียวกัน โดยหนูที่ได้รับไวรัสใช้เวลาผ่านเขาวงกตนานกว่าราว 10 เปอร์เซ็นต์ และสนใจสำรวจสิ่งใหม่ๆน้อยกว่าถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ข้อสรุปของโยลเคนก็คือ ร่างกายของคนเรารับเอาไวรัสนี้เข้าไว้ในตัวมาช้านานและส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมไปเรื่อยๆ
โดยที่ไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของตัวเองนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น